เทศบาลตำบลหนองยวง ร่วมรณรงค์ในวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN dengue day) วันที่ 15 มิถุนายน 2565
“โรคไข้เลือดออก” เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค หลังจากถูกยุงที่มีเชื้อกัดจะอยู่ในร่างกายคนประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ มีไข้สูงลอย 2-7 วัน
มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง
โรคนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และมักระบาดในฤดูฝน เพราะมียุงเพิ่มมากขึ้น ยุงลายอาศัยอยู่ในภายในบ้านและรอบ ๆ บ้าน ชอบดูดกินเลือดคนเวลากลางวัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้เลือดออกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรืออาจจะเกิดอาการรุนแรงจนเสียชีวิต ความรุนแรงของการติดเชื้อขึ้นกับอายุ ภาวะภูมิคุ้มกัน และความรุนแรงของเชื้อ
ลักษณะสำคัญของไข้เลือดออกคือ
- ไข้สูงเฉียบพลัน ประมาณ 2-7 วัน
- เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน และมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
- บางรายอาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีเลือดกำเดาออกหรือเลือดออกตามไรฟัน และถ่ายอุจจาระดำเนื่องจากเลือดออก และอาจทำให้เกิดอาการช็อกได้
- ในรายที่ช็อกจะสังเกตได้จากอาการไข้ลดแต่ผู้ป่วยซึมลง ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว หมดสติ หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ไม่มียารักษาเฉพาะโรคไข้เลือดออก การรักษาจะใช้วิธีประคับประคอง เช่น ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ และให้สารน้ำชดเชย เช่น การให้น้ำเกลือเนื่องจากผู้ป่วยมักมีภาวะขาดน้ำเนื่องจากไข้สูง ถ้ามีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
วิธีป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก
- ป้องกันยุงลายกัด ยุงลายมักจะกัดคนในเวลากลางวัน ควรนอนในมุ้งหรือติดมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงเข้ามาในบ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณมุมอับชื้น ทายากันยุงที่สกัดจากพืชธรรมชาติ
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป ยุงลายจะเพาะพันธุ์ในน้ำใส ในภาชนะที่เก็บน้ำใช้ในบ้าน เช่น โอ่งน้ำ ถ้วยรองขาตู้กันมด แจกันดอกไม้ ภาชนะนอกบ้านที่มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายกระทำได้โดย
- ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำต้องมีฝาปิดให้มิดชิด
- ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำใส่ในภาชนะขังน้ำ*ทำลายภาชนะที่ไม่จำเป็น เพราะอาจมีน้ำขังได้
- ปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูงในภาชนะที่มีน้ำขังขนาดใหญ่ เช่น อ่างบัว
- เปลี่ยนน้ำในภาชนะเล็ก ๆ เช่น แจกันทุก 7 วัน
- ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้านให้เป็นระเบียบ*ขัดขอบภาชนะทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำเพื่อทำลายไข่ยุงลาย
ที่มา : คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข