” แยกก่อนทิ้ง เพื่อสิ่งแวดล้อม “

Print Friendly, PDF & Email

การคัดแยกขยะ เป็นวิธีการหนึ่งในกระบวนการลดปริมาณขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นตัวการของปัญหามลพิษของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ขยะมูลฝอยที่เกิดจากการละเลยการคัดแยกขยะในชีวิตประจำวันของเรา เป็นห่วงโซ่หนึ่งที่นำพาให้คุณภาพของสิ่งแวดล้อม สุขภาพร่างกายและชีวิตโดยรวมแย่ลง วันนี้เรามาทำความรู้จักกับประเภทขยะ การคัดแยกขยะ และสถานที่ส่งต่อขยะรีไซเคิลกันเลย

ขยะมูลฝอย คืออะไร

“ขยะมูลฝอย (WASTE)  คือ สิ่งของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตและอุปโภคซึ่งเสื่อมสภาพจนใช้การไม่ได้หรือไม่ต้องการใช้แล้ว บางชนิดเป็นของแข็งหรือกากของเสีย (SOLID WASTE) มีผลเสียต่อสุขภาพ ทางกาย และจิตใจ เนื่องจากความสกปรกเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคทำให้เกิดมลพิษและทัศนะอุจาด”

ที่มา: พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

ผลกระทบจากขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกคัดแยกขยะ

ผลกระทบจากขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกคัดแยกขยะ ส่งผลเป็นวงกว้าง ทั้งผลกระทบต่อดิน น้ำ อากาศ สุขภาพของคนในพื้นที่นั้น และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก ทั้งภาวะโลกร้อน สัตว์ และพืชทยอยสูญพันธุ์

ประโยชน์ของการคัดแยกขยะ

การคัดแยกขยะ เป็นประโยชน์และถือเป็นหัวใจหลักในการลดปริมาณขยะ เพราะการคัดแยกขยะ ทำให้ขยะถูกส่งต่อไปในกระบวนการที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น เช่น นำไปเผา นำไปรีไซเคิล นำไปย่อยสลาย ฯลฯ แต่ถ้าหากเราไม่คัดแยกขยะ จะทำให้ขยะแยกออกจากกันยาก กลายเป็นกองขยะขนาดใหญ่ที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะทำได้ง่าย ๆ โดยเริ่มต้นที่การรู้จักประเภทของขยะกันก่อน

5 ประเภทขยะที่ต้องรู้

1. ขยะอินทรีย์

 

 

ขยะอินทรีย์ เป็นขยะมูลฝอยที่ย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์ เศษผลไม้ หญ้า กิ่งไม้ ฯลฯ

สีถังขยะอินทรีย์ ขยะย่อยสลายได้: สีเขียว

การคัดแยกขยะอินทรีย์และการทำให้ย่อยสลาย

ประเภทของขยะอินทรีย์ หรือขยะที่ย่อยสลายได้นั้น เป็นประเภทขยะที่มีปริมาณมากที่สุดในประเทศ คิดเป็น 64% ของประเภทขยะทั้งหมด ถึงแม้ว่าระบบการจัดเก็บขยะมูลฝอยอินทรีย์และการนำไปใช้ประโยชน์ในบ้านเราจะยังไม่เอื้ออำนวยก็ตาม ดังนั้นหากบ้านใครสามารถทำได้ ควรช่วยกันทำการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อการกำจัด โดยสามารถทำได้เองที่บ้านดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 เตรียมถัง หรือภาชนะทรงสูง เจาะรูระบายน้ำโดยรอบถัง หลังจากนั้นใช้ถุงพลาสติกเจาะรูรอบใส่ลงไปในถัง แล้วจึงนำถังไปฝังดิน โดยให้ปากภาชนะอยู่เหนือพื้นดินเล็กน้อย
  • ขั้นตอนที่ 2 ใส่เศษอาหาร ผัก ผลไม้ สลับชั้นไปกับดิน หรือปุ๋ยคอก ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน
  • ขั้นตอนที่ 3 เมื่อใส่ขยะอินทรีย์สลับกับดิน หรือปุ๋ยคอกจนเต็มแล้ว ให้ปิดฝา แล้วรดน้ำทุก ๆ 7 วันเพื่อเป็นการระบายความร้อน เมื่อครบ 1 เดือนก็จะได้ปุ๋ยหมักสีดำ สามารถนำไปใช้ผสมดินเพื่อปลูกผักหรือใส่ในต้นไม้ได้

อ้างอิงจาก: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

2. ขยะรีไซเคิล

 

 

ขยะรีไซเคิล เป็นขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยการนำไปแปรรูปด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ และนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ กระป๋อง ฯลฯ เป็นหนึ่งประเภทที่สามารถทำการคัดแยกขยะได้ง่ายที่สุด ช่วยลดปริมาณขยะมูลฝฝอยภาพรวม และลดการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้

สีถังขยะรีไซเคิล: สีน้ำเงิน

วิธีการคัดแยกขยะรีไซเคิลในชีวิตประจำวัน

แก้ว เช่น ภาชนะใส่อาหาร ใส่เครื่องดื่ม ขวดเครื่องสำอาง ขวดครีม ฯลฯ สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท

1. แก้วดี คือ ขวดแก้ว หรือบรรจุภัณฑ์และภาชนะแก้วที่ไม่มีรอยแตกร้าว หรือรอยบิ่น เมื่อนำเข้าโรงงานจะทำการล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เรียกว่า “Reuse”

2. แก้วแตก คือ ขวดแก้วที่แตก หัก บิ่น จะถูกนำมาแยกตามสี (สีใส สีชา และสีเขียว) และเข้าเครื่องบดเพื่อหลอมใหม่ ซึ่งโรงงานจะใช้แก้วแตกเหล่านี้ประมาร 30-40% ในการผลิตแก้วใบใหม่ ช่วยลดการใช้พลังงานความร้อนเมื่อเทียบกับการผลิตแก้วจากวัสดุธรรมชาติแบบ 100%

กระดาษ เป็นวัสดุที่ใช้พลังงานกว่า 1 ใน 5 ของโลกในการผลิตจากพลังงานที่ใช้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีกระดาษเพียงแค่ 60% เท่านั้นที่มีการคัดแยกขยะ และนำมาเป็นขยะรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ร้านของเก่ารับซื้อมี 7 ประเภท คือ กระดาษถ่ายเอกสาร กระดาษน้ำตาล (กระดาษลัง) กระดาษบิลเอกสาร กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษสมุด กระดาษหนังสือ (เป็นเล่ม หรือไม่เป็นเล่มก็ได้) และกระดาษสี

พลาสติก แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท

1. พลาสติกคงรูปถาวร คือพลาสติกที่ผ่านกระบวนการขึ้นรูปแบบแข็งตัว ไม่สามารถหลอมกลับมาได้ เช่น แก้วน้ำ หรือจานชาม

2. พลาสติกที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ทางที่ดีควรแยกตามประเภทของพลาสติก 7 ประเภท สามารถดูที่สัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์

 

3. ขยะทั่วไป

 

 

ขยะทั่วไป เป็นขยะที่ไม่เข้าพวกกับกลุ่มขยะ 3 ประเภทแรก เป็นขยะที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ หรืออาจเป็นขยะที่ไม่คุ้มค่าในการนำมาแปรรูป เช่น ถุงอาหารเปื้อนแกง เศษผ้า ซองขนม เซรามิก กระเบื้องแตก ฯลฯ ให้แยกออกจากประเภทอื่น ๆ เพื่อนำไปทำพลังงานความร้อนใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้

สีถังขยะทั่วไป: สีเหลือง

 

4. ขยะอันตราย

 

 

 

ขยะอันตราย เป็นขยะที่มีการปนเปื้อนสารอันตราย วัตถุมีพิษ วัตถุกัดกร่อน วัตถุติดเชื้อและวัตถุไวไฟ เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ ฯลฯ หากทิ้งรวมกับขยะทั่วไปจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ให้แยกออกจากขยะประเภทอื่น ๆ อย่างชัดเจน ใส่ถุงหรือกล่อง แล้วค่อยนำไปทิ้ง หรือเรียกใช้บริการเก็บขยะแทน

สีถังขยะอันตราย: สีแดง

 

5. ขยะติดเชื้อ

 

 

 

คือสิ่งของที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลายและเลือด เป็นต้น ซึ่งขยะติดเชื้อนี้รวมไปถึงชุดตรวจ COVID-19 ด้วยตัวเองอย่าง Antigen Test Kit หน้ากากอนามัย ภาชนะใส่อาหารและช้อนส้อมพลาสติก (แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง) และขวดน้ำดื่มหรือหลอดดูดน้ำพลาสติก(แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง) ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรจัดการฆ่าเชื้อและมัดปากถุงในสนิทเรียบร้อย ก่อนทิ้งขยะเพื่อส่งกำจัดขั้นต่อไป

วิธีการทิ้งขยะติดเชื้อที่บ้าน

ผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้านตัวเอง จะต้องทำการแยกขยะและใส่น้ำยาฆ่าเชื้อในถุงขยะ รวมไปถึงขยะทุกชิ้นต้องบรรจุในถุงพลาสติกอย่างมิดชิด ก่อนส่งกำจัด ซึ่งสามารถแยกจัดการขยะได้ดังนี้

  1. ขยะติดเชื้อ ควรทิ้งใส่ถุงขยะ และใส่น้ำยาฟอกขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 ฝาก่อนใส่ถุงอีกชั้น จากนั้นปิดปากถุงให้สนิท
  2. ควรใส่ขยะติดเชื้อในถุงสีแดง หรือถ้าไม่มีถุงสีแดง ควรเขียนหน้าถุงว่าขยะติดเชื้อก่อนทิ้งที่ถังขยะ
  3. ก่อนทำการทิ้งขยะติดเชื้อ ควรตรวจสอบก่อนว่าถุงรั่วและขาดหรือไม่

วิธีการทิ้งขยะติดเชื้อที่สถานประกอบการ

สถานประกอบการควรจัดพื้นที่สำหรับการทิ้งและวางถุงติดเชื้อต่าง ๆ ก่อนนำไปกำจัด  และควรปฏิบัติตนดังนี้ เช่น

  1. ไม่หยิบย้ายขยะด้วยมือเปล่า ควรใช้คีมเหล็กคีบ และสวมถุงมือทุกครั้ง
  2. ขยะติดเชื้อ  ควรทิ้งใส่ถุงขยะ และใส่น้ำยาฟอกขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 ฝาก่อนใส่ถุงอีกขั้น จากนั้นปิดปากถุงให้สนิท
  3. ควรใส่ขยะติดเชื้อในถุงสีแดง หรือถ้าไม่มีถุงสีแดง ควรเขียนหน้าถุงว่า “ขยะติดเชื้อ“ ก่อนทิ้งที่ถังขยะ
  4. ก่อนทำการทิ้งขยะติดเชื้อ ควรตรวจสอบก่อนว่าถุงรั่วและขาดหรือไม่
  5. การเคลื่อนย้ายขยะ ควรจัดตารางการทิ้งขยะ และติดป้ายติดกำกับที่ชัดเจน รวมไปถึงสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายก่อนทำการเคลื่อนย้ายขยะติดเชื้อ  เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในสถานประกอบการ

ทั้งนี้ไม่ว่าจะทำการทิ้งขยะติดเชื้อที่บ้านหรือสถานประกอบการ ควรสวมถุงมือยางอนามัยก่อนทุกครั้ง หลังจากการจำกัดขยะติดเชื้อแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

Categories: ข่าวประชาสัมพันธ์